ชุมชนยั่งยืนตาม ศาสตร์พระราชา Series

  • EP1 แนะนำชุมชนยั่งยืนตามศาสตร์พระราชา Series

    ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ศูนย์ศึกษาการพัฒนาที่ยั่งยืนและเศรษฐกิจพอเพียงร่วมกับทีมคณาจารย์นิด้าจากหลากหลายคณะ ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ภายใต้แผนงานวิจัยขยายผลการจัดการน้ำหมุนเวียนในชุมชนอย่างยั่งยืน เพื่อทำงานวิจัยเชิงลึกในการหาแนวทางที่จะขยายผลการพัฒนาชุมชนยั่งยืนตามศาสตร์พระราชา และ“สืบสาน รักษา ต่อยอด” พระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ซึ่งชุมชนยั่งยืนตามศาสตร์พระราชา Series นี้ จะขอนำเสนอกรอบแนวคิด สรุปเนื้อหา และผลจากงานวิจัย เพื่อเผยแพร่ความรู้ที่ได้จากงานวิจัยในวงกว้าง และจุดประกายการขับเคลื่อนการพัฒนาชุมชนยั่งยืนในกลุ่มผู้อ่านที่สนใจ  

    การพัฒนาชุมชนยั่งยืนตามศาสตร์พระราชา หมายถึง การพัฒนาชุมชนตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง อย่างเป็นขั้นตอนตามหลักทฤษฎีใหม่ ที่เน้นการเกื้อกูลกันทางธรรมชาติ เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารและรายได้ พร้อมๆ กับพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนให้ดีขึ้น

    หลักคิดในการพัฒนาชุมชนตามศาสตร์พระราชา คือการพัฒนาที่เริ่มต้นจากมุ่งให้ครัวเรือนเกษตรกรสามารถพึ่งพาตัวเองได้ระดับหนึ่ง โดยมีความมั่นคงทางอาหาร-อยู่ได้อย่างพออยู่พอกิน แล้วจึงส่งเสริมให้มีการรวมกลุ่มกันเพื่อพัฒนาอาชีพ พัฒนาผลผลิตที่หลากหลายจากทรัพยากรหลักที่มีในชุมชน จัดตั้งสหกรณ์หรือร้านค้าชุมชน เพื่อลดรายจ่ายและสร้างรายได้ พร้อมทั้งร่วมมือกันพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนให้ดีขึ้น ด้วยการจัดตั้งกองทุนสวัสดิการต่าง ๆ รวมถึงการออมทรัพย์ภายในชุมชน เพื่อมีภูมิคุ้มกันในยามวิกฤต และเชื่อมโยงกับหน่วยงานหรือองค์กรภายนอกชุมชน โดยร่วมมือกันในแบบเกื้อกูลกัน ให้ความสำคัญทรัพยากรท้องถิ่นและอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม ควบคู่กับการจัดการสิ่งแวดล้อมให้เกิดความยั่งยืน

    ทั้งนี้ มูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ ได้จัดทำผังภาพการพัฒนาชุมชนอย่างเป็นขั้นตอนตามหลักทฤษฎีใหม่ให้เข้าใจง่าย ๆ ดังภาพข้างล่าง และ Series นี้ จะยกตัวอย่างจริงของการพัฒนาชุมชนยั่งยืนในภูมิภาคต่างๆ ของประเทศไทย ใน EP ต่อๆ ไป

    ขอเชิญชวน FC “พอเพียงเพื่อยั่งยืน” ติดตามอ่าน ‘ชุมชนยั่งยืนตามศาสตร์พระราชา Series’ ซึ่งจะมีทั้งหมด 10 EP เริ่มตั้งแต่วันนี้ (จันทร์ที่ 4 มีนาคม) นำเสนอจันทร์ถึงศุกร์ เป็นเวลา 2 สัปดาห์ และฝาก กด like กด share ส่ง Comments มาให้กำลังใจผู้เขียนและทีมงานด้วยนะคะ ?

    ดร.ปรียานุช ธรรมปิยา ที่ปรึกษาศูนย์ศึกษาการพัฒนาที่ยั่งยืนและเศรษฐกิจพอเพียง
    #ชุมชนยั่งยืน #ศาสตร์พระราชา #ทฤษฎีใหม่

  • EP2 การพัฒนาชุมชนตามศาสตร์พระราชา

    EP นี้ จะขอนำเสนอที่มาของการพัฒนาชุมชนตามศาสตร์พระราชา ซึ่งเป็นการผนวกแนวพระราชดำริทฤษฎีใหม่และปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง อันเป็นศาสตร์พระราชาที่สำคัญยิ่งมาเป็นกรอบงานวิจัย

    พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงเข้าพระราชหฤทัยถึงสภาพสังคมไทยที่เปราะบาง ความเหลื่อมล้ำในหลากหลายมิติในสังคม และปัญหาความเสี่ยงทั้งจากทางภัยธรรมชาติและผลกระทบต่าง ๆ จากภายในและภายนอกประเทศ จึงได้มีพระราชดำริชี้แนะแนวทางการดำเนินชีวิตด้วยปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งมีแนวคิดที่ตั้งอยู่บนรากฐานของวัฒนธรรมไทย บนทางสายกลางและความไม่ประมาท คำนึงถึงความพอประมาณ มีเหตุผล การสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีในตัวเอง ตลอดจนใช้ความรู้ สติปัญญา ความเพียร และคุณธรรม เป็นพื้นฐานในการดำรงชีวิตให้สมดุลและพร้อมรับการเปลี่ยนแปลง 

    ในส่วนชองพระราชดำริทฤษฎีใหม่ เป็นตัวอย่างรูปธรรมในการประยุกต์ใช้เศรษฐกิจพอเพียงในการพัฒนาชุมชนอย่างเป็นขั้นตอน เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่เป็นฐานรากของความมั่นคงในการพัฒนา แต่อยู่ในสภาวะเปราะบางต่อผลกระทบต่าง ๆ โดยมุ่งสร้างความเข้มแข็งทั้งทางทรัพยากรธรรมชาติและทางสังคม ให้แก่ชุมชนในลักษณะการพึ่งตนเองก่อน แล้วจึงสร้างความเจริญและยกระดับเศรษฐกิจให้สูงขึ้น

    การดำเนินการตามทฤษฎีใหม่ขั้นพื้นฐาน คือการจัดสรรที่ดินและทรัพยากร โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบริหารจัดการน้ำในชุมชนอย่างเหมาะสมกับบริบทและภูมิสังคม เพื่อทำการเกษตรในรูปแบบผสมผสาน ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม นำไปสู่ความมั่นคงทางอาหาร ในระดับครัวเรือนของเกษตรกรรายย่อย ซึ่งมีอยู่กว่าล้านครัวเรือนกระจายอยู่ทุกภูมิภาคทั่วประเทศ ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและพึ่งตนเองได้ในระดับหนึ่ง ส่วนของทฤษฎีใหม่ขั้นก้าวหน้า หรือขั้นตอนที่ 2 และ 3 มุ่งให้เกิดการรวมกลุ่มของเกษตรกรที่อยู่อย่างพอเพียง เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งและเชื่อมโยงกันกับหน่วยงาน องค์กรต่าง ๆ เป็นเครือข่ายขยายผลให้เกิดความอยู่ดีกินดี และสามารถพึ่งตนเองได้ในวงกว้าง ซึ่งปัจจุบันมีความพยายามขยายผลทฤษฎีใหม่ 3 ขั้นตอน โดยหน่วยงาน องค์กรต่างๆ เช่น มูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ และมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์  

    ทีมวิจัยได้จัดทำผังภาพกรอบงานวิจัยการพัฒนาชุมชนตามศาสตร์พระราชา (ตามผังข้างล่าง) ซึ่งเป็นการร่วมมือกันระหว่างคนในชุมชนในการบริหารจัดการทรัพยากรชุมชน เช่น น้ำ ดิน ป่าไม้ นำไปสู่การขยายขอบเขตการประกอบอาชีพ ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ และเมื่อเริ่มมีเงินออมก็นำไปสู่กลุ่มออมทรัพย์ การจัดสวัสดิการชุมชนในรูปแบบต่าง ๆ และบางส่วนก็นำกลับไปดูแลและบริหารทรัพยากรชุมชนให้มีใช้อย่างยั่งยืน ซึ่งทั้งหมดเป็นการสร้างระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนในชุมชนที่มีประสิทธิภาพ นำไปสู่ความเจริญก้าวหน้าที่สมดุลและมีภูมิคุ้มกัน

    ทั้งหมดนี้ คือกรอบที่มาของการพัฒนาชุมชนยั่งยืนตามศาสตร์พระราชา โดย และจะยกตัวอย่างชุมชนต้นแบบที่มีการดำเนินการจริงและประสบความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม ใน EP ต่อ ๆ ไป

    ดร.ปรียานุช ธรรมปิยา ที่ปรึกษาศูนย์ศึกษาการพัฒนาที่ยั่งยืนและเศรษฐกิจพอเพียง
    #ชุมชนยั่งยืน #เศรษฐกิจพอเพียง ทฤษฎีใหม่ #ศาสตร์พระราชา

     

  • EP3 ชุมชนดงขี้เหล็ก จังหวัดปราจีนบุรี ชุมชนพึ่งตนเอง - ภาคกลาง

    EP.3 ชุมชนดงขี้เหล็ก จังหวัดปราจีนบุรี ชุมชนพึ่งตนเอง - ภาคกลาง

            ชุมชนยั่งยืนตามศาสตร์พระราชา Series EP3-EP6 จะพา FC มารู้จักกับชุมชนต้นแบบที่มีความเข้มแข็งและพัฒนาบนเส้นทางศาสตร์พระราชา เริ่มจากชุมชนในภาคกลางก่อน คือชุมชนดงขี้เหล็ก อำเภอเมือง จังหวัดปราจีนบุรี

            ชุมชนตำบลดงขี้เหล็ก เป็นต้นแบบของชุมชนที่สามารถจัดการตนเองได้ในหลากหลายมิติ จากที่ในอดีตเคยประสบปัญหาขาดแคลนน้ำในการประกอบอาชีพเกษตร ส่งผลให้เกิดปัญหาหนี้สินตามมา คนในชุมชนจึงได้ร่วมมือกันแก้ไขปัญหา เริ่มจากการบริหารจัดการน้ำในชุมชนและพื้นที่เกษตรของตน - ทั้งน้ำบนดิน น้ำใต้ดิน น้ำในแม่น้ำลำคลอง บ่อสระในครัวเรือน - จนในปี 2554 ได้เป็นแม่ข่ายการจัดการทรัพยากรน้ำชุมชนด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ของสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) หรือ สสน. ในการขยายผลการจัดการน้ำชุมชนสู่ตำบลอื่นๆ ในพื้นที่ลุ่มน้ำปราจีนบุรี

            เมื่อชุมชนแก้ไขปัญหาน้ำ - น้ำท่วม น้ำแล้ง น้ำเสีย - ได้แล้ว ก็ปรับเปลี่ยนจากการทำเกษตรเชิงเดี่ยว สู่การปลูกพืชแบบผสมผสาน ส่งผลให้คนในชุมชนมีรายได้มั่นคงมากขึ้น ลดความเสี่ยงในการประกอบอาชีพ ซึ่งข้อมูล จปฐ. ปี 2565 ชี้ให้เห็นว่า รายได้เฉลี่ยครัวเรือนตำบลดงขี้เหล็กเท่ากับ 320,076 บาทต่อปี ในขณะที่รายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือนของไทยเท่ากับ 235,888 บาทต่อปี ส่วนรายจ่ายเฉลี่ยของครัวเรือนชุมชนดงขี้เหล็กเท่ากับ 196,796 บาทต่อปี ในขณะที่รายจ่ายเฉลี่ยต่อครัวเรือนของไทยเท่ากับ 138,004 บาทต่อปี จึงเห็นได้ว่าคนในชุมชนดงขี้เหล็กมีทั้งรายได้และรายจ่ายสูงกว่าประชากรไทยโดยเฉลี่ย

            ความมั่นคงของรายได้นำไปสู่การมีเงินออมและฝากเงินในสหกรณ์ออมทรัพย์ของชุมชน ซึ่งการออมของชุมชนได้เริ่มจากการจัดตั้ง“กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตบ้านขอนขว้าง” เมื่อปี 2524 โดยมีเงินออมร่วมกันก้อนแรก 1,150 บาท จากสมาชิก 48 คน จนในปัจจุบัน สามารถขยายกลุ่มออมทรัพย์ไปครบทั้ง 14 หมู่บ้านในตำบลดงขี้เหล็ก รวมมีสมาชิก 9,541 คน มีเงินออมรวมประมาณ 600 ล้านบาท และมีการจัดสรรกำไรเพื่อตั้งกองทุนสวัสดิการต่าง ๆ สำหรับสมาชิกรวม 12 กองทุน อาทิ กองทุนออมทรัพย์ กองทุนที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย กองทุนร้านค้าชุมชน กองทุนเกษตรอินทรีย์ และกองทุนการจัดการน้ำ เป็นต้น กำไรของสหกรณ์ออมทรัพย์ส่วนหนึ่งยังนำมาจัดสรรให้กับกองทุนสวัสดิการต่าง ๆ ของชุมชน ทำให้คนในชุมชนมีเงินทุนของตนเอง สำรองในการเสริมสร้างซ่อมแซมการจัดการน้ำในชุมชน และพัฒนาชุมชน ผู้ขาดแคลนเงินทุนในการประกอบอาชีพสามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำของชุมชนได้ ทำให้ลดต้นทุนของเกษตรกร และเปิดโอกาสให้ผู้มีเงินทุนน้อยสามารถลงทุนเพื่อพัฒนาการทำเกษตรของตนให้ดีขึ้น

            ด้วยความร่วมมือร่วมใจของคนในชุมชนในลักษณะพึ่งตนเอง มีกลุ่มผู้นำหลายรุ่นที่ทำงานด้วยความสามัคคีและเข้มแข็ง ทำให้ชุมชนดงขี้เหล็กเป็นตำบลต้นแบบในการพัฒนาชุมชนพึ่งตนเองที่ยังยืน อย่างน่าสนใจ

    ดร.ปรียานุช ธรรมปิยา ผศ.ดร.ทัศนีย์ สติมานนท์ และ ดร.อัจฉรา โยมสินธุ์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์

    #ชุมชนยั่งยืน #ศาสตร์พระราชา #ทฤษฎีใหม่ #ชุมชนดงขี้เหล็ก #สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ

     

     


  • EP.4 ชุมชนบ้านน้ำป้าก จังหวัดน่าน ชุมชนจัดการน้ำต้นแบบ - ภาคเหนือ

    EP.4 ชุมชนบ้านน้ำป้าก จังหวัดน่าน ชุมชนจัดการน้ำต้นแบบ - ภาคเหนือ 

            EP4 นี้ เราจะพา FC ไปแอ่วเหนือ ฮักชุมชนบ้านน้ำป้าก ตำบลตาลชุม อำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน ชุมชนต้นแบบการฟื้นฟูป่าต้นน้ำ จัดสรรน้ำชุมชนอย่างเหมาะสม พัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและดีต่อสุขภาพ นำไปสู่การสร้างรายได้และเงินออมอย่างยั่งยืนตามศาสตร์พระราชา 

            ชุมชนบ้านน้ำป้ากเป็นชุมชนในพื้นที่สูงและลาดชัน สภาพพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม พื้นที่มีความเสี่ยงต่อภัยพิบัติน้ำป่าไหลหลาก เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินและชีวิตของผู้คนในชุมชน ผู้นำชุมชนได้ริเริ่มทำฝายอนุรักษ์ในห้วยน้ำลำธารในพื้นที่ แต่ฝายไม่มีความคงทน ไม่สามารถกักเก็บน้ำหรือชะลอน้ำได้ จึงเป็นจุดเริ่มต้นในการพัฒนาแหล่งน้ำในชุมชนให้ยั่งยืน โดยในปี 2552 มูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานตามแนวพระราชดำริ เข้ามาสนับสนุนการบริหารจัดการน้ำของชุมชน โดยร่วมมือกับกลุ่มผู้นำชุมชนในการเปลี่ยนพฤติกรรมผ่านแนวคิด เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา 

            เป้าหมายในเบื้องต้น คือมุ่งให้ชาวบ้านลดพื้นที่การทำไร่ข้าวโพดในที่ลาดชันและคืนพื้นที่ป่าส่วนหนึ่ง โดยให้การสนับสนุนในด้านต่างๆ เพื่อให้ชาวบ้านมีรายได้ทดแทนรายได้ที่ลดลงจากการปลูกข้าวโพด และให้ความสำคัญในการบริหารจัดการน้ำเป็นอันดับแรก ตั้งแต่ทำประปาหมู่บ้าน การทำฝาย การต่อท่อน้ำเพื่อใช้ในการเกษตร การทำบ่อพวงสันเขาเพื่อให้สามารถต่อท่อน้ำทำการเกษตรในที่ดอนได้ การทำนาขั้นบันไดเพื่อลดความเร็วของน้ำ กักเก็บตะกอนและลดความเสียหายต่อพืชพันธุ์ การสร้างฝายอนุรักษ์ ฝายการเกษตร และการขุดบ่อน้ำในไร่นา เพื่อกักเก็บน้ำในการอุปโภคและภาคการเกษตร ตลอดจนสร้างความชุ่มชื้นให้กับระบบนิเวศ 

            ด้วยการสนับสนุนความรู้ที่เกี่ยวข้อง การสร้างเครือข่าย และการสนับสนุนอุปกรณ์ต่างๆ ร่วมกับการดำเนินการที่เข้มแข็งของผู้นำชุมชนและชุมชนเอง ปัจจุบันชุมชนบ้านน้ำป้าก มีระบบท่อน้ำจากฝายต่างๆ และส่งน้ำครอบคลุมพื้นที่เกษตรเป็นส่วนใหญ่ มีน้ำใช้สำหรับอุปโภคและการเกษตรที่บริหารจัดการโดยคณะกรรมการบริหารน้ำแต่ละฝาย การแปรรูปผลิตผลที่ได้จากป่าเศรษฐกิจที่พัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ของชุมชน จนเกิดกลุ่มอาชีพภายในชุมชน เช่น กลุ่มสุกร กลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปรรูปผลิตภัณฑ์ชุมชนบ้านน้ำป้าก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การรวมตัวกันของเกษตรกรผู้ปลูกข้าวก่ำลืมผัว ที่นอกจากจะเป็นการอนุรักษ์พันธุ์ข้าวโบราณไว้แล้ว ยังต่อยอดเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มโดยการนำข้าวก่ำบรรจุถุงซีลสุญญากาศจำหน่าย ทั้งข้าวเปลือกและข้าวสาร ผลิตภัณฑ์ผ่านการรับรองมาตรฐาน GAP จนประสบความสำเร็จ มีชื่อเสียง เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคอย่างกว้างขวาง 

            การพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายจากฐานทรัพยากรท้องถิ่น สร้างรายได้ให้กับชุมชน นำไปสู่การลดพื้นที่ปลูกข้าวโพดและการทำไร่หมุนเวียนอย่างถาวร ระบบนิเวศที่อุดมสมบูรณ์ ชุมชนเองเกิดความรักและหวงแหนทรัพยากรในชุมชนของตัวเอง ส่งผลให้คุณภาพชีวิตของผู้คนในชุมชนบ้านน้ำป้ากดีขึ้นอย่างยั่งยืน

    ดร.ปรียานุช ธรรมปิยา และ ผศ.ดร.ฆริกา คันธา สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์

    #ชุมชนยั่งยืน #ศาสตร์พระราชา #ทฤษฎีใหม่ #บ้านน้ำป้าก #มูลนิธิปิดทองหลังพระ

     

    อาจเป็นรูปภาพของ ต้นที่ออกลูกเป็นผลไม้เม็ดแข็ง

  • EP.5 ชุมชนบ้านโคกล่าม-แสงอร่าม จังหวัดอุดรธานี ชุมชนพอเพียง – ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

    EP.5 ชุมชนบ้านโคกล่าม-แสงอร่าม จังหวัดอุดรธานี ชุมชนพอเพียง – ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  

            EP นี้ จะชวน FC ไปเยี่ยมยามชุมชนโคกล่าม-แสงอร่าม ซึ่งเป็น 2 หมู่บ้าน ตั้งอยู่ติดกันที่ตำบลกุดหมากไฟ อำเภอหนองวัวซอ จังหวัดอุดรธานี ครอบคลุมพื้นที่จำนวน 60,945 ไร่ ประชากรรวมทั้งสิ้น 2,010 ครัวเรือน ส่วนใหญ่ร้อยละ 90 ประกอบอาชีพเกษตรกรรม โดยทั้ง 2 หมู่บ้านนี้พึ่งพิงแหล่งน้ำธรรมชาติเดียวกัน คือ อ่างเก็บน้ำห้วยคล้าย ในฤดูฝนจะมีน้ำไหลลงจากภูเขามารวมกัน ขยายครอบคลุมจนเป็นพื้นที่ขนาดใหญ่ แต่พอถึงฤดูแล้ง พื้นที่รับน้ำในฤดูฝนกลับประสบกับสภาวะแห้งแล้ง เกษตรกรไม่สามารถทำการเกษตรได้ เพราะอ่างเก็บน้ำห้วยคล้ายไม่มีระบบส่งน้ำและการบริหารจัดการน้ำที่ดีและมีประสิทธิภาพ จากสภาพความแห้งแล้งและขาดแคลนน้ำ ทำให้ชาวบ้านซึ่งส่วนใหญ่มีอาชีพทำนา ทำไร่ ต้องอพยพเข้าไปขายแรงงานในเมืองหรือต่างประเทศ 

            หลังจากปี 2554 ที่มูลนิธิปิดทองหลังพระฯ ร่วมกับกรมการปกครอง องค์การบริหารส่วนจังหวัดอุดรธานี และชาวบ้านในชุมชน ได้เริ่มดำเนินงานโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ – อ่างเก็บน้ำห้วยคล้าย - อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ทำให้เกิดกระบวนการเรียนรู้วิธีการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน ปลูกไม้ยืนต้นในพื้นที่ป่าต้นน้ำรวม 17,571 ต้น และชาวบ้านที่ตัดสินใจเข้าร่วมโครงการจำนวน 230 ครัวเรือน มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น สามารถสร้างรายได้เพิ่มขึ้นและลดหนี้สินได้ 

            มูลนิธิปิดทองหลังพระฯ ได้ประสานงานกับหน่วยงานราชการ รวมทั้งภาคเอกชน พัฒนาจัดตั้งกลุ่มกิจกรรมและกองทุนต่างๆ ขึ้น โดยกำหนดเป้าหมายเริ่มจากการเสริมสร้างให้ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้ อยู่รอดได้ในระดับพื้นฐาน หลุดพ้นจากปัญหาหนี้สิน มีรายได้เพียงพอที่จะสามารถจ่ายชำระคืนหนี้สินที่มีได้ แล้วจึงยกระดับสู่การใช้ชีวิตแบบพอเพียงอย่างยั่งยืน ซึ่งเมื่อเกิดการรวมกลุ่มของคนในชุมชน ก็มีการร่วมแรงร่วมใจกันดำเนินการในด้านการผลิต การตลาด การศึกษา ความอยู่ดีมีสุข สังคม ศาสนา และสวัสดิการต่างๆ เกิดกลุ่มต่าง ๆ เช่น กองทุนเมล็ดพันธุ์ข้าว กลุ่มปุ๋ยอินทรีย์บ้านโคกล่าม-แสงอร่าม กลุ่มวิสาหกิจผู้ปลูกผักปลอดภัย กลุ่มวิสาหกิจโรงสีข้าวชุมชน บ้านโคกล่าม – แสงอร่าม กลุ่มกองทุนปศุสัตว์ เป็นต้น 

            แม้ว่าชุมชนจะมีการพัฒนาคุณภาพความเป็นอยู่จนดีกว่าเดิมมาก จากการยกระดับการบริหารจัดการน้ำ แต่การบริหารจัดการของกลุ่มกิจกรรมต่างๆ ยังสามารถปรับปรุงให้เข้มแข็งขึ้นอีกได้ เพื่อให้คนส่วนใหญ่ในชุมชนได้ร่วมกันพัฒนา ร่วมกันใช้ประโยชน์ ทำนุบำรุงรักษา ซ่อมแซมและปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานสาธารณะที่ร่วมกันพัฒนาขึ้น รวมถึงใช้ประโยชน์จากกองทุนต่างๆ อย่างเต็มศักยภาพ ตลอดจนความพยายามดึงคนรุ่นใหม่เข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรม โดยมีผู้นำรุ่นต่อไปที่มีความเข้มแข็ง พร้อมจะเสียสละ และเป็นที่ยอมรับของขุมชน มาสืบสานงานพัฒนา ลดการพึ่งพาความช่วยเหลือจากภาครัฐ จนกระทั่งสามารถพัฒนาตนเองได้อย่างยั่งยืน พัฒนาสู่การเป็นเป็นศูนย์เรียนรู้ต้นแบบตามแนวพระราชดำริระดับอำเภอที่สามารถขยายผลไปสู่อำเภออื่นๆ ได้ต่อไป 

    ดร.ปรียานุช ธรรมปิยา และ ผศ. ดร. สันติ ชัยศรีสวัสดิ์สุข สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์

    #ชุมชนยั่งยืน #ศาสตร์พระราชา #วิสาหกิจชุมชน #บ้านโคกล่ามแสงอร่าม #มูลนิธิปิดทองหลังพระ

     อาจเป็นรูปภาพของ 7 คน และ ข้อความ


  • EP.6 ชุมชนบ้านปากซวด จังหวัดสุราษฎร์ธานี ชุมชนอยู่ร่วมกับป่า – ภาคใต้

    EP.6 ชุมชนบ้านปากซวด จังหวัดสุราษฎร์ธานี ชุมชนอยู่ร่วมกับป่า – ภาคใต้  

            วันนี้ เราจะชวน FC ไปเที่ยวจังหวัดสุราษฎร์ธานี ในเขตอุทยานป่าต้นน้ำเขื่อนรัชชประภา เพื่อเรียนรู้วิถีชุมชนอยู่ร่วมกับป่าจาก ชุมชนบ้านปากซวด ตำบลพะแสง อำเภอบ้านตาขุน จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งเป็นชุมชนที่ตั้งรกรากบริเวณเทือกเขาตอเต่า โดยมีป่าเป็นแหล่งอาหารและแหล่งทำกินสำคัญมาอย่างยาวนาน 

            เมื่อชาวบ้านเริ่มถางป่าเพื่อทำเกษตรเชิงเดี่ยว สวนปาล์มน้ำมันและยางพารา ประกอบกับมีนายทุนเข้ามาขอซื้อและตัดไม้ในที่ทำกินของชาวบ้าน ส่งผลต่อระบบนิเวศน์ ก่อให้เกิดปัญหาน้ำหลาก น้ำแล้ง ขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค ซึ่งทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ จนเมื่อมีการจัดตั้งอุทยานแห่งชาติเขาสก และก่อสร้างเขื่อนรัชชประภา ทำให้ชาวบ้านกลายเป็นผู้บุกรุกป่า เนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่ของชุมชนบ้านปากซวดอยู่ในเขตอุทยานฯ นอกจากนี้ ชาวบ้านยังได้รับผลกระทบจากการที่สายน้ำเปลี่ยนเส้นทาง จนเกิดเป็นประเด็นข้อพิพาทระหว่างชาวบ้านกับอุทยานอย่างต่อเนื่อง 

            ชุมชนเริ่มมีการแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำอย่างจริงจัง โดยจัดตั้งคณะกรรมการเครือข่ายบริหารจัดการน้ำบ้านปากซวด เพื่อบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ บรรเทาปัญหาน้ำหลาก น้ำแล้ง และพัฒนาแหล่งสำรองน้ำในพื้นที่ แต่การดำเนินงานยังคงเกิดข้อพิพาทกับอุทยานฯ เป็นระยะๆ จนในปี 2554 มูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) หรือ สสน. ได้เข้ามาแนะนำแนวทางการบริหารจัดการน้ำชุมชนตามแนวพระราชดำริ สนับสนุนให้ชุมชนร่วมกันคิดวิเคราะห์หาแนวทางแก้ไขปัญหาน้ำแบบพึ่งตนเอง โดยร่วมกันสำรวจพื้นที่ เก็บข้อมูล จัดทำแผนที่น้ำ แผนที่ทรัพยากรธรรมชาติ ฟื้นฟูป่าต้นน้ำ ร่วมกันกำหนด กฎกติกาและแนวปฏิบัติในการดูแลรักษาป่าต้นน้ำ ช่วยกันเพิ่มระบบกักเก็บน้ำด้วยการสร้างฝาย เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นและดักตะกอนในลำน้ำ ช่วยเก็บน้ำหลากไว้ใช้ทำเกษตรในหน้าแล้ง และปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง แทนการปลูกพืชเชิงเดี่ยว โดยการปลูกไม้ผลและพืชผักสวนครัวเสริมในสวนยางพาราและสวนปาล์มน้ำมัน เพื่อเพิ่มผลผลิตหมุนเวียน สร้างรายได้ให้ครัวเรือนในชุมชนตลอดทั้งปี 

            ที่สำคัญคือ การที่ สสน. ได้ประสานสร้างความเข้าใจให้ชุมชนและอุทยานแห่งชาติ เจรจาเพื่อหาทางออกร่วมกันและหาแนวทางอนุรักษ์พื้นที่ป่าต้นน้ำตามแนวพระราชดำริ เพื่อให้ชุมชนอยู่ร่วมกับป่าได้อย่างยั่งยืน จนกระทั่งปี 2557 ชุมชนได้ร่วมกับอุทยานฯ กำหนดขอบเขตป่าอนุรักษ์ ซึ่งอุทยานฯ ได้ออกใบพิสูจน์สิทธิ์ที่ดินทำกินให้แก่ชาวบ้าน เพื่อกันเขตพื้นที่ป่ากับที่ทำกินให้ชัดเจน จนชุมชนสามารถอยู่ร่วมกับป่า และร่วมมือกับกรมอุทยานฯ ดูแลป่าต้นน้ำ และพัฒนาแหล่งน้ำอย่างเป็นระบบ จนชาวบ้านสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน และเป็นแบบอย่างชุมชนเข้มแข็งที่มีแนวปฏิบัติในการบริหารจัดการน้ำและพัฒนาตนเองที่น่าสนใจอย่างยิ่ง

    ดร.ปรียานุช ธรรมปิยา และ ดร.อัจฉรา โยมสินธุ์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์

    #ชุมชนยั่งยืน #ศาสตร์พระราชา #บ้านปากซวด #ป่าต้นน้ำ #คนอยู่ร่วมกับป่า #สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ

     

    อาจเป็นรูปภาพของ ทะเลสาบ

  • EP.7 หลักการทรงงานกับการพัฒนาชุมชนยั่งยืน

    EP.7 หลักการทรงงานกับการพัฒนาชุมชนยั่งยืน 

            ศาสตร์พระราชาที่ใช้เป็นกรอบในงานวิจัยการพัฒนาชุมชนยั่งยืน คือปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และทฤษฎีใหม่ตามแนวพระราชดำริ นอกจากนี้แล้วยังได้คำนึงถึงหลักการทรงงานของในหลวงรัชกาลที่ 9 ด้วย ซึ่ง EP นี้จะนำเสนอความสอดคล้องของหลักการทรงงานกับแนวทางการพัฒนาชุมชนพึ่งตนเองที่เข้มแข็งและยั่งยืน  

            พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงทุ่มเทพระวรกาย ทั้งตรากตรำและมุ่งมั่น เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้แก่พสกนิกรทุกหมู่เหล่า ทุกแห่งหน ทั้งด้านสาธารณสุข การศึกษา สาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน การเกษตร การฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทั้งดิน น้ำ ป่าไม้ และพลังงาน หรือแม้กระทั่งการจราจรในเมือง ก็ทรงคิดค้นหาแนวทางแก้ไขปัญหาได้อยางแยบยล การทรงงานของพระองค์ท่าน ยึดการดำเนินงานที่สอดคล้องกับแต่ละภูมิสังคมและสามารถปฏิบัติได้จริง ด้วยความละเอียดรอบคอบ และมุ่งสร้างประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน 

            สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) ได้รวบรวมหลักการทรงงานในพระองค์ท่าน รวม 23 ข้อ และเผยแพร่เพื่อให้ประชาชนสามารถนำไปใช้เป็นแบบอย่างในงานพัฒนาทุกระดับ  (https://www.rdpb.go.th/.../%E0%B8%AB%E0%B8%A5%E0%B8%B1.../

    )  

            ศูนย์ศึกษาการพัฒนาที่ยั่งยืนและเศรษฐกิจพอเพียงได้จัดหลักสูตรค่ายฝึกปฏิบัติงานสืบสานการพัฒนาตามแนวพระราชดำริ ให้กับนักเรียนทุนเศรษฐกิจพอเพียงของธนาคารไทยพาณิชย์ เมื่อปี 2563 ซึ่งหนึ่งในชิ้นงานค่ายของนักเรียนทุนฯ คือ การถอดบทเรียนหลักการทรงงานในการพัฒนาชุมชนดงขี้เหล็ก จังหวัดปราจีนบุรี – หนึ่งในพื้นที่ต้นแบบของงานวิจัย ปรากฏตามภาพข้างล่าง ซึ่งเป็นตัวอย่างการวิเคราะห์ให้เห็นว่าการพัฒนาชุมชนพึ่งตนเองที่มีความยั่งยืน มีกลยุทธ์และวิถีปฏิบัติที่สอดคล้องกับหลักการทรงงานอย่างชัดเจน 

    ดร.ปรียานุช ธรรมปิยา สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์

    ขอบคุณข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.)

    #ชุมชนยั่งยืน #ศาสตร์พระราชา #ทฤษฎีใหม่ #ทุนเศรษฐกิจพอเพียง #หลักการทรงงาน #ธนาคารไทยพาณิชย์

    อาจเป็นรูปภาพของ ข้อความพูดว่า "หลัก ารทรงงาน หัวใจสู่การจัดการน้ำ กา ชุมชนดงขี้เหล็ก จ.ปราจีนบุรี ไทยพาณิชย์ SCB ONEM SUDSESC lgnlnay"

     


  • EP.8 ถอดบทเรียนการพัฒนาชุมชนยั่งยืนตามศาสตร์พระราชา

    EP.8 ถอดบทเรียนการพัฒนาชุมชนยั่งยืนตามศาสตร์พระราชา 

            EP นี้ จะนำเสนอการถอดบทเรียนการพัฒนาชุมชนยั่งยืนตามศาสตร์พระราชา จากการเก็บข้อมูลและเส้นทางการพัฒนาชุมชนต้นแบบ 4 แห่งในหลากหลายภูมิสังคมที่ชวน FC ไปรู้จักมาแล้วใน EP ที่ผ่านมา 

            การพัฒนาอย่างเป็นขั้นตอนตามหลักทฤษฎีใหม่ มีความสำคัญอย่างมากในการสร้างศักยภาพของชุมชนให้สามารถพึ่งตนเองได้อย่างเป็นขั้นตอน เริ่มจากการสะสมความรู้ และเพิ่มพูนทักษะในการจัดการ – ตั้งแต่การจัดการในระดับครัวเรือน การจัดการกลุ่มที่มีสมาชิกหลากหลาย ในเรื่องต่างๆ อาทิ การจัดการน้ำ การประกอบอาชีพ การตลาด การออมและจัดสวัสดิการ รวมถึงทักษะการจัดการความสัมพันธ์กับเครือข่ายจากภายนอกชุมชน โดยเรียนรู้จากประสบการณ์จริง ทั้งจากความผิดพลาดและความสำเร็จ รวมถึงร่วมกันแก้ไขและการป้องกันปัญหา  

           คณะผู้วิจัยได้ถอดบทเรียนการพัฒนาชุมชนยั่งยืนตามศาสตร์พระราชา โดยจำแนกองค์ประกอบสำคัญในการพัฒนาชุมชนยั่งยืนตามศาสตร์พระราชา เป็น 3 เรื่องหลัก ได้แก่ ระบบคิด ระบบจัดการ และกิจกรรมปฏิบัติการ

    • ระบบคิด: ก่อนอื่นชุมชนต้องรู้จักตนเองและภูมิสังคมที่ตั้งอยู่อย่างถ่องแท้ โดยมีฐานข้อมูลที่จัดเก็บอย่างเป็นระบบและเรียกใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ชุมชนยั่งยืนจะมีเป้าหมายร่วมในการพัฒนาบนฐานความเป็นจริง และมีค่านิยมร่วม (Shared core values) ในการอยู่ร่วมกัน 

    • ระบบจัดการ: คุณลักษณะของแกนนำชุมชนมีส่วนสำคัญอย่างมากในการนำพาชุมชนไปสู่ความเข้มแข็งและยั่งยืน โดยมีกลไกจัดการภายในชุมชน และกติกาการจัดการทรัพยากรร่วมที่เหมาะสมกับแต่ละบริบทของชุมชน รวมถึงช่องทางการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ 

    • กิจกรรมพัฒนา: กิจกรรมในระดับปฏิบัติต่าง ๆ เน้นการต่อยอดจากสิ่งที่มีอยู่เดิม รวมถึงภูมิปัญญาท้องถิ่น เน้นกระบวนการมีส่วนร่วม และคำนึงถึงประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ในชุมชน 

            ภาพประกอบ EP นี้ เป็นการถอดบทเรียนการบริหารจัดการน้ำชุมชนอย่างยั่งยืน ที่คณะวิจัยได้ดำเนินการร่วมกับทีมงาน Circular Economy ของ SCG และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) หรือ สสน. 

    ดร.ปรียานุช ธรรมปิยา สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์

    #ชุมชนยั่งยืน #ศาสตร์พระราชา #ทฤษฎีใหม่ #Circular Economy #SCG #สสน

    อาจเป็นกราฟิกรูป 2 คน, แผนที่, แหล่งน้ำ และ ข้อความ


     


  • EP.9 รูปแบบการพัฒนาชุมชนยั่งยืนตามศาสตร์พระราชา

    EP.9 รูปแบบการพัฒนาชุมชนยั่งยืนตามศาสตร์พระราชา

              EP นี้ นำเสนอรูปแบบการพัฒนาชุมชนยั่งยืนตามศาสตร์พระราชา ซึ่งเป็นผลงานวิจัยของโครงการ ที่สามารถนำไปใช้เป็นเครื่องมือในการขยายผลการพัฒนาชุมชนยั่งยืนตามศาสตร์พระราชาได้ต่อไป

              จากการถอดบทเรียนประสบการณ์พัฒนาชุมชนต้นแบบการบริหารจัดการน้ำแบบพึ่งตนเองตามศาสตร์พระราชา จาก 4 ชุมชนกระจายในหลากหลายภูมิสังคม และสังเคราะห์ปัจจัยขับเคลื่อนชุมชนเพื่อให้สามารถพึ่งตนเองได้ และเกิดการพัฒนาชุมชนที่ยั่งยืน และนำปัจจัยหลักดังกล่าวมาจัดทำเป็นรูปแบบการพัฒนาชุมชนแบบพึ่งตนเองอย่างยั่งยืนตามศาสตร์ของพระราชา โดยจำแนกเป็นปัจจัยในการพัฒนาใน 5 ด้าน ได้แก่

    • คนในชุมชนมีส่วนร่วมในการพัฒนา

    • เป้าหมายการพัฒนาชุมชนมุ่งสร้างความสมดุลและภูมิคุ้มกันที่ดี

    • แกนนำขับเคลื่อนและผู้นำมีความรู้คู่คุณธรรม

    • มีฐานข้อมูลเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาชุมชน

    • มีระบบการบริหารจัดการชุมชนบนฐานธรรมาภิบาลสู่ความยั่งยืน


    ทั้งนี้ ในแต่ละด้าน มีองค์ประกอบ และตัวชี้วัดในลักษณะระดับการพัฒนา (เกณฑ์คุณภาพระดับ 1 – 5) เพื่อบรรลุความสมบูรณ์ (Maturity) อย่างเป็นขั้นตอน รายละเอียดตามภาพประกอบข้างล่าง


    ดร.ปรียานุช ธรรมปิยา ผศ.ดร.ทัศนีย์ สติมานนท์ และ ดร.อัจฉรา โยมสินธุ์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์

    #ชุมชนยั่งยืน #ศาสตร์พระราชา #รูปแบบการพัฒนาชุมชน #MaturityMode


    อาจเป็นกราฟิกรูป ข้อความพูดว่า "pppa NUA คนในชุมชนมีส่วนร่วม ในการพัฒนา แกนนำขับเคลื่อนและ ผู้นำมีความรู้คู่คุณธรรม มีเป้าหมายร่วมในการ พัฒนาชุมชน ตัวชี้วัด) มีค่านิยมร่วมในการอยู่ ร่วมกัน Shared core values ตัวชี้วัด) คนในชุมชนมีส่วนร่วมใน กิจกรรมพัฒนาชุมชน (4 ตัวชีวัด) มีระบบการบริหาร จัดการชุมชนบนฐาน ธรรมาภิบาล รูปแบการพัมาังในามาตรพรา เป้าหมายการพัฒนา ชุมชนมุ่งสร้างความสมดุล และภูมิคุ้มกันที่ดี มุ่งสร้างความมั่นคงทาง เศรษฐกิจ ตัวชี้วัด) มีการจัดการสิ่งแวดล้อม อย่างยั้งยืน 3ตัวชี้วัด) พัฒนาคุณภาพชีวิตของ คนในชุมชนให้ดียิงขืน2 ตัวชีวัด) เสริมสร้างความภาคภูมีใจ ในรากเหง้าของชุมชน( ตัวชี้วัด) เสริมสร้างศักยภาพคนใน ชุมชนให้สา มารถพึงตนเอง ได้(3 ตัวชี้วัด) .มีฐานข้อมูลเพื่อ ขับเคลสื่อนการพัฒนาชุมชน มีระบบข้อมูลชุมชนที่ทำ ให้ชุมชนรู้จักตนเองตาม ความเป็นจริง(3 ตัวชี้วัด) คนในซุมชนมีส่วนร่วมใน กระบวนการจัดทำและใช้ ประโยชน์จากฐานข้อมูล 4ตัวชีวัด) แกนน้ำบูรณาการความ เชี่ยวชาญที่หลากหลายมา ทำงานร่วมกันได้( ตัวชี้วัด) ผู้นำหลักมีวิสัยทัศน์มี ความรู้ ควบคู่กับ คุณธรรม ตัวชี้วัด) มีเครือข่ายสนับสนุนที่ ส่งเสริมให้ชุมชนสามารถ พึ่งตนเองได้(1 ตัวชี้วัด) มีกลไกจัดการและ ขับเคลื่อนการพัฒนาชุมชน อย่างมีส่วนร่วม (4 ตัวชี้วัด) มีการจัดการทรัพยากร ร่วมของชุมชนอย่าง เหมาะสม ตัวชีวัด) มีช่องทางการสื่อสาร ะหว่างคนในชุมชนทีมี ประสิทธิผล ตัวชี้วัด) การพัฒนาชุมชนเป็นไป อย่างเป็นขั้นตอน มีความ สมดูลและมันคง( ตัวชีวัด)"

     


  • EP.10 การขยายผลการพัฒนาชุมชนยั่งยืนฯ

    EP.10 การขยายผลการพัฒนาชุมชนยั่งยืนฯ 

             แผนงานวิจัยขยายผลการจัดการน้ำหมุนเวียนในชุมชนอย่างยั่งยืน ทำให้เกิดรูปแบบการพัฒนาอย่างยั่งยืนตามศาสตร์พระราชาทั้งสิ้น 4 โมเดล ซึ่งนอกเหนือจาก “รูปแบบการพัฒนาชุมชนยั่งยืนตามศาสตร์พระราชา” ที่ได้นำเสนอใน EP ที่แล้ว ยังมีอีก 3 ชุดตัวชี้วัด ที่สามารถใช้เป็นแผนที่นำทางการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน ตามกรอบแผนงานวิจัย ได้แก่ 

    • "รูปแบบการจัดการทรัพยากรน้ำในชุมชนเพื่อการขยายผลอย่างยั่งยืน" โดย ผศ.ดร.ฆริกา คันธา 

    • “การต่อยอดเศรษฐกิจจากฐานการจัดการน้ำชุมชนเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม” โดย ผศ.ดร.สันติ ชัยศรีสวัสดิ์สุข

    • “รูปแบบการจัดการกองทุนพัฒนาชุมชนตามศาสตร์ของพระราชา” โดย ดร.อัจฉรา โยมสินธุ์

             ทั้งนี้ ภายใต้แผนงานวิจัย เราจะมีการฝึกอบรม Trian the Trainers ให้กับผู้นำการขับเคลื่อนชุมชนต้นแบบ เจ้าหน้าที่ขับเคลื่อนการพัฒนาในหน่วยงานต่าง ๆ อาทิ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ มูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ และ กรมพัฒนาชุมชน เป็นต้น เพื่อให้เกิดแกนนำในการขยายผลการพัฒนาชุมชนให้สามารถพึ่งตนเองได้อย่างยั่งยืนตามศาสตร์พระราชา และเผยแพร่ผลงานสู่สาธารณชน อย่างต่อเนื่อง 

             EP นี้จะเป็น EP สุดท้ายของ Series นี้ จึงขอแนะนำทีมงานวิจัยผ่านรูปภาพลงพื้นที่ใน 4 ชุมชนตามข้างล่าง และขอขอบคุณ FC พอเพียงเพื่อยั่งยืน ที่ติดตาม Series นี้มาจนจบ  

    ดร.ปรียานุช ธรรมปิยา สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์

    #ชุมชนยั่งยืน #ศาสตร์พระราชา #พอเพียงเพื่อยั่งยืน


    อาจเป็นรูปภาพของ 16 คน และ ต้นไม้