EP
นี้ จะขอนำเสนอที่มาของการพัฒนาชุมชนตามศาสตร์พระราชา ซึ่งเป็นการผนวกแนวพระราชดำริทฤษฎีใหม่และปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
อันเป็นศาสตร์พระราชาที่สำคัญยิ่งมาเป็นกรอบงานวิจัย
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร
มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงเข้าพระราชหฤทัยถึงสภาพสังคมไทยที่เปราะบาง
ความเหลื่อมล้ำในหลากหลายมิติในสังคม และปัญหาความเสี่ยงทั้งจากทางภัยธรรมชาติและผลกระทบต่าง
ๆ จากภายในและภายนอกประเทศ จึงได้มีพระราชดำริชี้แนะแนวทางการดำเนินชีวิตด้วยปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
ซึ่งมีแนวคิดที่ตั้งอยู่บนรากฐานของวัฒนธรรมไทย บนทางสายกลางและความไม่ประมาท คำนึงถึงความพอประมาณ
มีเหตุผล การสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีในตัวเอง ตลอดจนใช้ความรู้ สติปัญญา ความเพียร และคุณธรรม
เป็นพื้นฐานในการดำรงชีวิตให้สมดุลและพร้อมรับการเปลี่ยนแปลง
ในส่วนชองพระราชดำริทฤษฎีใหม่
เป็นตัวอย่างรูปธรรมในการประยุกต์ใช้เศรษฐกิจพอเพียงในการพัฒนาชุมชนอย่างเป็นขั้นตอน
เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่เป็นฐานรากของความมั่นคงในการพัฒนา แต่อยู่ในสภาวะเปราะบางต่อผลกระทบต่าง
ๆ โดยมุ่งสร้างความเข้มแข็งทั้งทางทรัพยากรธรรมชาติและทางสังคม ให้แก่ชุมชนในลักษณะการพึ่งตนเองก่อน
แล้วจึงสร้างความเจริญและยกระดับเศรษฐกิจให้สูงขึ้น
การดำเนินการตามทฤษฎีใหม่ขั้นพื้นฐาน
คือการจัดสรรที่ดินและทรัพยากร โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบริหารจัดการน้ำในชุมชนอย่างเหมาะสมกับบริบทและภูมิสังคม
เพื่อทำการเกษตรในรูปแบบผสมผสาน ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม นำไปสู่ความมั่นคงทางอาหาร
ในระดับครัวเรือนของเกษตรกรรายย่อย ซึ่งมีอยู่กว่าล้านครัวเรือนกระจายอยู่ทุกภูมิภาคทั่วประเทศ
ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและพึ่งตนเองได้ในระดับหนึ่ง ส่วนของทฤษฎีใหม่ขั้นก้าวหน้า
หรือขั้นตอนที่ 2 และ 3 มุ่งให้เกิดการรวมกลุ่มของเกษตรกรที่อยู่อย่างพอเพียง เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งและเชื่อมโยงกันกับหน่วยงาน
องค์กรต่าง ๆ เป็นเครือข่ายขยายผลให้เกิดความอยู่ดีกินดี และสามารถพึ่งตนเองได้ในวงกว้าง
ซึ่งปัจจุบันมีความพยายามขยายผลทฤษฎีใหม่ 3 ขั้นตอน โดยหน่วยงาน องค์กรต่างๆ เช่น มูลนิธิปิดทองหลังพระ
สืบสานแนวพระราชดำริ และมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์
ทีมวิจัยได้จัดทำผังภาพกรอบงานวิจัยการพัฒนาชุมชนตามศาสตร์พระราชา
(ตามผังข้างล่าง) ซึ่งเป็นการร่วมมือกันระหว่างคนในชุมชนในการบริหารจัดการทรัพยากรชุมชน
เช่น น้ำ ดิน ป่าไม้ นำไปสู่การขยายขอบเขตการประกอบอาชีพ ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้
และเมื่อเริ่มมีเงินออมก็นำไปสู่กลุ่มออมทรัพย์ การจัดสวัสดิการชุมชนในรูปแบบต่าง
ๆ และบางส่วนก็นำกลับไปดูแลและบริหารทรัพยากรชุมชนให้มีใช้อย่างยั่งยืน
ซึ่งทั้งหมดเป็นการสร้างระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนในชุมชนที่มีประสิทธิภาพ นำไปสู่ความเจริญก้าวหน้าที่สมดุลและมีภูมิคุ้มกัน
ทั้งหมดนี้
คือกรอบที่มาของการพัฒนาชุมชนยั่งยืนตามศาสตร์พระราชา โดย และจะยกตัวอย่างชุมชนต้นแบบที่มีการดำเนินการจริงและประสบความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม
ใน EP
ต่อ ๆ ไป
ดร.ปรียานุช
ธรรมปิยา ที่ปรึกษาศูนย์ศึกษาการพัฒนาที่ยั่งยืนและเศรษฐกิจพอเพียง
#ชุมชนยั่งยืน #เศรษฐกิจพอเพียง ทฤษฎีใหม่ #ศาสตร์พระราชา
EP.3 ชุมชนดงขี้เหล็ก จังหวัดปราจีนบุรี ชุมชนพึ่งตนเอง - ภาคกลาง
ชุมชนยั่งยืนตามศาสตร์พระราชา Series EP3-EP6
จะพา FC มารู้จักกับชุมชนต้นแบบที่มีความเข้มแข็งและพัฒนาบนเส้นทางศาสตร์พระราชา
เริ่มจากชุมชนในภาคกลางก่อน คือชุมชนดงขี้เหล็ก อำเภอเมือง จังหวัดปราจีนบุรี
ชุมชนตำบลดงขี้เหล็ก
เป็นต้นแบบของชุมชนที่สามารถจัดการตนเองได้ในหลากหลายมิติ
จากที่ในอดีตเคยประสบปัญหาขาดแคลนน้ำในการประกอบอาชีพเกษตร
ส่งผลให้เกิดปัญหาหนี้สินตามมา คนในชุมชนจึงได้ร่วมมือกันแก้ไขปัญหา เริ่มจากการบริหารจัดการน้ำในชุมชนและพื้นที่เกษตรของตน
- ทั้งน้ำบนดิน น้ำใต้ดิน น้ำในแม่น้ำลำคลอง บ่อสระในครัวเรือน - จนในปี 2554
ได้เป็นแม่ข่ายการจัดการทรัพยากรน้ำชุมชนด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
ของสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) หรือ สสน. ในการขยายผลการจัดการน้ำชุมชนสู่ตำบลอื่นๆ
ในพื้นที่ลุ่มน้ำปราจีนบุรี
เมื่อชุมชนแก้ไขปัญหาน้ำ - น้ำท่วม น้ำแล้ง น้ำเสีย - ได้แล้ว
ก็ปรับเปลี่ยนจากการทำเกษตรเชิงเดี่ยว สู่การปลูกพืชแบบผสมผสาน
ส่งผลให้คนในชุมชนมีรายได้มั่นคงมากขึ้น ลดความเสี่ยงในการประกอบอาชีพ ซึ่งข้อมูล
จปฐ. ปี 2565 ชี้ให้เห็นว่า รายได้เฉลี่ยครัวเรือนตำบลดงขี้เหล็กเท่ากับ 320,076
บาทต่อปี ในขณะที่รายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือนของไทยเท่ากับ 235,888 บาทต่อปี
ส่วนรายจ่ายเฉลี่ยของครัวเรือนชุมชนดงขี้เหล็กเท่ากับ 196,796 บาทต่อปี
ในขณะที่รายจ่ายเฉลี่ยต่อครัวเรือนของไทยเท่ากับ 138,004 บาทต่อปี
จึงเห็นได้ว่าคนในชุมชนดงขี้เหล็กมีทั้งรายได้และรายจ่ายสูงกว่าประชากรไทยโดยเฉลี่ย
ความมั่นคงของรายได้นำไปสู่การมีเงินออมและฝากเงินในสหกรณ์ออมทรัพย์ของชุมชน
ซึ่งการออมของชุมชนได้เริ่มจากการจัดตั้ง“กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตบ้านขอนขว้าง”
เมื่อปี 2524 โดยมีเงินออมร่วมกันก้อนแรก 1,150 บาท จากสมาชิก 48 คน จนในปัจจุบัน
สามารถขยายกลุ่มออมทรัพย์ไปครบทั้ง 14 หมู่บ้านในตำบลดงขี้เหล็ก รวมมีสมาชิก 9,541
คน มีเงินออมรวมประมาณ 600 ล้านบาท
และมีการจัดสรรกำไรเพื่อตั้งกองทุนสวัสดิการต่าง ๆ สำหรับสมาชิกรวม 12 กองทุน อาทิ
กองทุนออมทรัพย์ กองทุนที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย กองทุนร้านค้าชุมชน กองทุนเกษตรอินทรีย์
และกองทุนการจัดการน้ำ เป็นต้น
กำไรของสหกรณ์ออมทรัพย์ส่วนหนึ่งยังนำมาจัดสรรให้กับกองทุนสวัสดิการต่าง ๆ
ของชุมชน ทำให้คนในชุมชนมีเงินทุนของตนเอง
สำรองในการเสริมสร้างซ่อมแซมการจัดการน้ำในชุมชน และพัฒนาชุมชน
ผู้ขาดแคลนเงินทุนในการประกอบอาชีพสามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำของชุมชนได้
ทำให้ลดต้นทุนของเกษตรกร
และเปิดโอกาสให้ผู้มีเงินทุนน้อยสามารถลงทุนเพื่อพัฒนาการทำเกษตรของตนให้ดีขึ้น
ด้วยความร่วมมือร่วมใจของคนในชุมชนในลักษณะพึ่งตนเอง
มีกลุ่มผู้นำหลายรุ่นที่ทำงานด้วยความสามัคคีและเข้มแข็ง
ทำให้ชุมชนดงขี้เหล็กเป็นตำบลต้นแบบในการพัฒนาชุมชนพึ่งตนเองที่ยังยืน
อย่างน่าสนใจ
ดร.ปรียานุช ธรรมปิยา ผศ.ดร.ทัศนีย์ สติมานนท์ และ ดร.อัจฉรา
โยมสินธุ์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
#ชุมชนยั่งยืน #ศาสตร์พระราชา #ทฤษฎีใหม่ #ชุมชนดงขี้เหล็ก
#สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ
EP.4 ชุมชนบ้านน้ำป้าก จังหวัดน่าน ชุมชนจัดการน้ำต้นแบบ - ภาคเหนือ
EP4 นี้ เราจะพา FC ไปแอ่วเหนือ ฮักชุมชนบ้านน้ำป้าก ตำบลตาลชุม อำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน ชุมชนต้นแบบการฟื้นฟูป่าต้นน้ำ จัดสรรน้ำชุมชนอย่างเหมาะสม พัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและดีต่อสุขภาพ นำไปสู่การสร้างรายได้และเงินออมอย่างยั่งยืนตามศาสตร์พระราชา
ชุมชนบ้านน้ำป้ากเป็นชุมชนในพื้นที่สูงและลาดชัน สภาพพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม พื้นที่มีความเสี่ยงต่อภัยพิบัติน้ำป่าไหลหลาก เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินและชีวิตของผู้คนในชุมชน ผู้นำชุมชนได้ริเริ่มทำฝายอนุรักษ์ในห้วยน้ำลำธารในพื้นที่ แต่ฝายไม่มีความคงทน ไม่สามารถกักเก็บน้ำหรือชะลอน้ำได้ จึงเป็นจุดเริ่มต้นในการพัฒนาแหล่งน้ำในชุมชนให้ยั่งยืน โดยในปี 2552 มูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานตามแนวพระราชดำริ เข้ามาสนับสนุนการบริหารจัดการน้ำของชุมชน โดยร่วมมือกับกลุ่มผู้นำชุมชนในการเปลี่ยนพฤติกรรมผ่านแนวคิด เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา
เป้าหมายในเบื้องต้น คือมุ่งให้ชาวบ้านลดพื้นที่การทำไร่ข้าวโพดในที่ลาดชันและคืนพื้นที่ป่าส่วนหนึ่ง โดยให้การสนับสนุนในด้านต่างๆ เพื่อให้ชาวบ้านมีรายได้ทดแทนรายได้ที่ลดลงจากการปลูกข้าวโพด และให้ความสำคัญในการบริหารจัดการน้ำเป็นอันดับแรก ตั้งแต่ทำประปาหมู่บ้าน การทำฝาย การต่อท่อน้ำเพื่อใช้ในการเกษตร การทำบ่อพวงสันเขาเพื่อให้สามารถต่อท่อน้ำทำการเกษตรในที่ดอนได้ การทำนาขั้นบันไดเพื่อลดความเร็วของน้ำ กักเก็บตะกอนและลดความเสียหายต่อพืชพันธุ์ การสร้างฝายอนุรักษ์ ฝายการเกษตร และการขุดบ่อน้ำในไร่นา เพื่อกักเก็บน้ำในการอุปโภคและภาคการเกษตร ตลอดจนสร้างความชุ่มชื้นให้กับระบบนิเวศ
ด้วยการสนับสนุนความรู้ที่เกี่ยวข้อง การสร้างเครือข่าย และการสนับสนุนอุปกรณ์ต่างๆ ร่วมกับการดำเนินการที่เข้มแข็งของผู้นำชุมชนและชุมชนเอง ปัจจุบันชุมชนบ้านน้ำป้าก มีระบบท่อน้ำจากฝายต่างๆ และส่งน้ำครอบคลุมพื้นที่เกษตรเป็นส่วนใหญ่ มีน้ำใช้สำหรับอุปโภคและการเกษตรที่บริหารจัดการโดยคณะกรรมการบริหารน้ำแต่ละฝาย การแปรรูปผลิตผลที่ได้จากป่าเศรษฐกิจที่พัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ของชุมชน จนเกิดกลุ่มอาชีพภายในชุมชน เช่น กลุ่มสุกร กลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปรรูปผลิตภัณฑ์ชุมชนบ้านน้ำป้าก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การรวมตัวกันของเกษตรกรผู้ปลูกข้าวก่ำลืมผัว ที่นอกจากจะเป็นการอนุรักษ์พันธุ์ข้าวโบราณไว้แล้ว ยังต่อยอดเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มโดยการนำข้าวก่ำบรรจุถุงซีลสุญญากาศจำหน่าย ทั้งข้าวเปลือกและข้าวสาร ผลิตภัณฑ์ผ่านการรับรองมาตรฐาน GAP จนประสบความสำเร็จ มีชื่อเสียง เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคอย่างกว้างขวาง
การพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายจากฐานทรัพยากรท้องถิ่น สร้างรายได้ให้กับชุมชน นำไปสู่การลดพื้นที่ปลูกข้าวโพดและการทำไร่หมุนเวียนอย่างถาวร ระบบนิเวศที่อุดมสมบูรณ์ ชุมชนเองเกิดความรักและหวงแหนทรัพยากรในชุมชนของตัวเอง ส่งผลให้คุณภาพชีวิตของผู้คนในชุมชนบ้านน้ำป้ากดีขึ้นอย่างยั่งยืน
ดร.ปรียานุช ธรรมปิยา และ ผศ.ดร.ฆริกา คันธา สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
#ชุมชนยั่งยืน #ศาสตร์พระราชา #ทฤษฎีใหม่ #บ้านน้ำป้าก #มูลนิธิปิดทองหลังพระ
EP.5 ชุมชนบ้านโคกล่าม-แสงอร่าม จังหวัดอุดรธานี ชุมชนพอเพียง – ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
EP นี้ จะชวน FC ไปเยี่ยมยามชุมชนโคกล่าม-แสงอร่าม ซึ่งเป็น 2 หมู่บ้าน ตั้งอยู่ติดกันที่ตำบลกุดหมากไฟ อำเภอหนองวัวซอ จังหวัดอุดรธานี ครอบคลุมพื้นที่จำนวน 60,945 ไร่ ประชากรรวมทั้งสิ้น 2,010 ครัวเรือน ส่วนใหญ่ร้อยละ 90 ประกอบอาชีพเกษตรกรรม โดยทั้ง 2 หมู่บ้านนี้พึ่งพิงแหล่งน้ำธรรมชาติเดียวกัน คือ อ่างเก็บน้ำห้วยคล้าย ในฤดูฝนจะมีน้ำไหลลงจากภูเขามารวมกัน ขยายครอบคลุมจนเป็นพื้นที่ขนาดใหญ่ แต่พอถึงฤดูแล้ง พื้นที่รับน้ำในฤดูฝนกลับประสบกับสภาวะแห้งแล้ง เกษตรกรไม่สามารถทำการเกษตรได้ เพราะอ่างเก็บน้ำห้วยคล้ายไม่มีระบบส่งน้ำและการบริหารจัดการน้ำที่ดีและมีประสิทธิภาพ จากสภาพความแห้งแล้งและขาดแคลนน้ำ ทำให้ชาวบ้านซึ่งส่วนใหญ่มีอาชีพทำนา ทำไร่ ต้องอพยพเข้าไปขายแรงงานในเมืองหรือต่างประเทศ
หลังจากปี 2554 ที่มูลนิธิปิดทองหลังพระฯ ร่วมกับกรมการปกครอง องค์การบริหารส่วนจังหวัดอุดรธานี และชาวบ้านในชุมชน ได้เริ่มดำเนินงานโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ – อ่างเก็บน้ำห้วยคล้าย - อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ทำให้เกิดกระบวนการเรียนรู้วิธีการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน ปลูกไม้ยืนต้นในพื้นที่ป่าต้นน้ำรวม 17,571 ต้น และชาวบ้านที่ตัดสินใจเข้าร่วมโครงการจำนวน 230 ครัวเรือน มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น สามารถสร้างรายได้เพิ่มขึ้นและลดหนี้สินได้
มูลนิธิปิดทองหลังพระฯ ได้ประสานงานกับหน่วยงานราชการ รวมทั้งภาคเอกชน พัฒนาจัดตั้งกลุ่มกิจกรรมและกองทุนต่างๆ ขึ้น โดยกำหนดเป้าหมายเริ่มจากการเสริมสร้างให้ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้ อยู่รอดได้ในระดับพื้นฐาน หลุดพ้นจากปัญหาหนี้สิน มีรายได้เพียงพอที่จะสามารถจ่ายชำระคืนหนี้สินที่มีได้ แล้วจึงยกระดับสู่การใช้ชีวิตแบบพอเพียงอย่างยั่งยืน ซึ่งเมื่อเกิดการรวมกลุ่มของคนในชุมชน ก็มีการร่วมแรงร่วมใจกันดำเนินการในด้านการผลิต การตลาด การศึกษา ความอยู่ดีมีสุข สังคม ศาสนา และสวัสดิการต่างๆ เกิดกลุ่มต่าง ๆ เช่น กองทุนเมล็ดพันธุ์ข้าว กลุ่มปุ๋ยอินทรีย์บ้านโคกล่าม-แสงอร่าม กลุ่มวิสาหกิจผู้ปลูกผักปลอดภัย กลุ่มวิสาหกิจโรงสีข้าวชุมชน บ้านโคกล่าม – แสงอร่าม กลุ่มกองทุนปศุสัตว์ เป็นต้น
แม้ว่าชุมชนจะมีการพัฒนาคุณภาพความเป็นอยู่จนดีกว่าเดิมมาก จากการยกระดับการบริหารจัดการน้ำ แต่การบริหารจัดการของกลุ่มกิจกรรมต่างๆ ยังสามารถปรับปรุงให้เข้มแข็งขึ้นอีกได้ เพื่อให้คนส่วนใหญ่ในชุมชนได้ร่วมกันพัฒนา ร่วมกันใช้ประโยชน์ ทำนุบำรุงรักษา ซ่อมแซมและปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานสาธารณะที่ร่วมกันพัฒนาขึ้น รวมถึงใช้ประโยชน์จากกองทุนต่างๆ อย่างเต็มศักยภาพ ตลอดจนความพยายามดึงคนรุ่นใหม่เข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรม โดยมีผู้นำรุ่นต่อไปที่มีความเข้มแข็ง พร้อมจะเสียสละ และเป็นที่ยอมรับของขุมชน มาสืบสานงานพัฒนา ลดการพึ่งพาความช่วยเหลือจากภาครัฐ จนกระทั่งสามารถพัฒนาตนเองได้อย่างยั่งยืน พัฒนาสู่การเป็นเป็นศูนย์เรียนรู้ต้นแบบตามแนวพระราชดำริระดับอำเภอที่สามารถขยายผลไปสู่อำเภออื่นๆ ได้ต่อไป
ดร.ปรียานุช ธรรมปิยา และ ผศ. ดร. สันติ ชัยศรีสวัสดิ์สุข สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
#ชุมชนยั่งยืน #ศาสตร์พระราชา #วิสาหกิจชุมชน #บ้านโคกล่ามแสงอร่าม #มูลนิธิปิดทองหลังพระ
EP.6 ชุมชนบ้านปากซวด จังหวัดสุราษฎร์ธานี ชุมชนอยู่ร่วมกับป่า – ภาคใต้
วันนี้ เราจะชวน FC ไปเที่ยวจังหวัดสุราษฎร์ธานี ในเขตอุทยานป่าต้นน้ำเขื่อนรัชชประภา เพื่อเรียนรู้วิถีชุมชนอยู่ร่วมกับป่าจาก ชุมชนบ้านปากซวด ตำบลพะแสง อำเภอบ้านตาขุน จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งเป็นชุมชนที่ตั้งรกรากบริเวณเทือกเขาตอเต่า โดยมีป่าเป็นแหล่งอาหารและแหล่งทำกินสำคัญมาอย่างยาวนาน
เมื่อชาวบ้านเริ่มถางป่าเพื่อทำเกษตรเชิงเดี่ยว สวนปาล์มน้ำมันและยางพารา ประกอบกับมีนายทุนเข้ามาขอซื้อและตัดไม้ในที่ทำกินของชาวบ้าน ส่งผลต่อระบบนิเวศน์ ก่อให้เกิดปัญหาน้ำหลาก น้ำแล้ง ขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค ซึ่งทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ จนเมื่อมีการจัดตั้งอุทยานแห่งชาติเขาสก และก่อสร้างเขื่อนรัชชประภา ทำให้ชาวบ้านกลายเป็นผู้บุกรุกป่า เนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่ของชุมชนบ้านปากซวดอยู่ในเขตอุทยานฯ นอกจากนี้ ชาวบ้านยังได้รับผลกระทบจากการที่สายน้ำเปลี่ยนเส้นทาง จนเกิดเป็นประเด็นข้อพิพาทระหว่างชาวบ้านกับอุทยานอย่างต่อเนื่อง
ชุมชนเริ่มมีการแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำอย่างจริงจัง โดยจัดตั้งคณะกรรมการเครือข่ายบริหารจัดการน้ำบ้านปากซวด เพื่อบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ บรรเทาปัญหาน้ำหลาก น้ำแล้ง และพัฒนาแหล่งสำรองน้ำในพื้นที่ แต่การดำเนินงานยังคงเกิดข้อพิพาทกับอุทยานฯ เป็นระยะๆ จนในปี 2554 มูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) หรือ สสน. ได้เข้ามาแนะนำแนวทางการบริหารจัดการน้ำชุมชนตามแนวพระราชดำริ สนับสนุนให้ชุมชนร่วมกันคิดวิเคราะห์หาแนวทางแก้ไขปัญหาน้ำแบบพึ่งตนเอง โดยร่วมกันสำรวจพื้นที่ เก็บข้อมูล จัดทำแผนที่น้ำ แผนที่ทรัพยากรธรรมชาติ ฟื้นฟูป่าต้นน้ำ ร่วมกันกำหนด กฎกติกาและแนวปฏิบัติในการดูแลรักษาป่าต้นน้ำ ช่วยกันเพิ่มระบบกักเก็บน้ำด้วยการสร้างฝาย เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นและดักตะกอนในลำน้ำ ช่วยเก็บน้ำหลากไว้ใช้ทำเกษตรในหน้าแล้ง และปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง แทนการปลูกพืชเชิงเดี่ยว โดยการปลูกไม้ผลและพืชผักสวนครัวเสริมในสวนยางพาราและสวนปาล์มน้ำมัน เพื่อเพิ่มผลผลิตหมุนเวียน สร้างรายได้ให้ครัวเรือนในชุมชนตลอดทั้งปี
ที่สำคัญคือ การที่ สสน. ได้ประสานสร้างความเข้าใจให้ชุมชนและอุทยานแห่งชาติ เจรจาเพื่อหาทางออกร่วมกันและหาแนวทางอนุรักษ์พื้นที่ป่าต้นน้ำตามแนวพระราชดำริ เพื่อให้ชุมชนอยู่ร่วมกับป่าได้อย่างยั่งยืน จนกระทั่งปี 2557 ชุมชนได้ร่วมกับอุทยานฯ กำหนดขอบเขตป่าอนุรักษ์ ซึ่งอุทยานฯ ได้ออกใบพิสูจน์สิทธิ์ที่ดินทำกินให้แก่ชาวบ้าน เพื่อกันเขตพื้นที่ป่ากับที่ทำกินให้ชัดเจน จนชุมชนสามารถอยู่ร่วมกับป่า และร่วมมือกับกรมอุทยานฯ ดูแลป่าต้นน้ำ และพัฒนาแหล่งน้ำอย่างเป็นระบบ จนชาวบ้านสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน และเป็นแบบอย่างชุมชนเข้มแข็งที่มีแนวปฏิบัติในการบริหารจัดการน้ำและพัฒนาตนเองที่น่าสนใจอย่างยิ่ง
ดร.ปรียานุช ธรรมปิยา และ ดร.อัจฉรา โยมสินธุ์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
#ชุมชนยั่งยืน #ศาสตร์พระราชา #บ้านปากซวด #ป่าต้นน้ำ #คนอยู่ร่วมกับป่า #สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ
EP.7 หลักการทรงงานกับการพัฒนาชุมชนยั่งยืน
ศาสตร์พระราชาที่ใช้เป็นกรอบในงานวิจัยการพัฒนาชุมชนยั่งยืน คือปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และทฤษฎีใหม่ตามแนวพระราชดำริ นอกจากนี้แล้วยังได้คำนึงถึงหลักการทรงงานของในหลวงรัชกาลที่ 9 ด้วย ซึ่ง EP นี้จะนำเสนอความสอดคล้องของหลักการทรงงานกับแนวทางการพัฒนาชุมชนพึ่งตนเองที่เข้มแข็งและยั่งยืน
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงทุ่มเทพระวรกาย ทั้งตรากตรำและมุ่งมั่น เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้แก่พสกนิกรทุกหมู่เหล่า ทุกแห่งหน ทั้งด้านสาธารณสุข การศึกษา สาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน การเกษตร การฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทั้งดิน น้ำ ป่าไม้ และพลังงาน หรือแม้กระทั่งการจราจรในเมือง ก็ทรงคิดค้นหาแนวทางแก้ไขปัญหาได้อยางแยบยล การทรงงานของพระองค์ท่าน ยึดการดำเนินงานที่สอดคล้องกับแต่ละภูมิสังคมและสามารถปฏิบัติได้จริง ด้วยความละเอียดรอบคอบ และมุ่งสร้างประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน
สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) ได้รวบรวมหลักการทรงงานในพระองค์ท่าน รวม 23 ข้อ และเผยแพร่เพื่อให้ประชาชนสามารถนำไปใช้เป็นแบบอย่างในงานพัฒนาทุกระดับ (https://www.rdpb.go.th/.../%E0%B8%AB%E0%B8%A5%E0%B8%B1.../
)
ศูนย์ศึกษาการพัฒนาที่ยั่งยืนและเศรษฐกิจพอเพียงได้จัดหลักสูตรค่ายฝึกปฏิบัติงานสืบสานการพัฒนาตามแนวพระราชดำริ ให้กับนักเรียนทุนเศรษฐกิจพอเพียงของธนาคารไทยพาณิชย์ เมื่อปี 2563 ซึ่งหนึ่งในชิ้นงานค่ายของนักเรียนทุนฯ คือ การถอดบทเรียนหลักการทรงงานในการพัฒนาชุมชนดงขี้เหล็ก จังหวัดปราจีนบุรี – หนึ่งในพื้นที่ต้นแบบของงานวิจัย ปรากฏตามภาพข้างล่าง ซึ่งเป็นตัวอย่างการวิเคราะห์ให้เห็นว่าการพัฒนาชุมชนพึ่งตนเองที่มีความยั่งยืน มีกลยุทธ์และวิถีปฏิบัติที่สอดคล้องกับหลักการทรงงานอย่างชัดเจน
ดร.ปรียานุช ธรรมปิยา สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
ขอบคุณข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.)
#ชุมชนยั่งยืน #ศาสตร์พระราชา #ทฤษฎีใหม่ #ทุนเศรษฐกิจพอเพียง #หลักการทรงงาน #ธนาคารไทยพาณิชย์
EP.8 ถอดบทเรียนการพัฒนาชุมชนยั่งยืนตามศาสตร์พระราชา
EP นี้ จะนำเสนอการถอดบทเรียนการพัฒนาชุมชนยั่งยืนตามศาสตร์พระราชา จากการเก็บข้อมูลและเส้นทางการพัฒนาชุมชนต้นแบบ 4 แห่งในหลากหลายภูมิสังคมที่ชวน FC ไปรู้จักมาแล้วใน EP ที่ผ่านมา
การพัฒนาอย่างเป็นขั้นตอนตามหลักทฤษฎีใหม่ มีความสำคัญอย่างมากในการสร้างศักยภาพของชุมชนให้สามารถพึ่งตนเองได้อย่างเป็นขั้นตอน เริ่มจากการสะสมความรู้ และเพิ่มพูนทักษะในการจัดการ – ตั้งแต่การจัดการในระดับครัวเรือน การจัดการกลุ่มที่มีสมาชิกหลากหลาย ในเรื่องต่างๆ อาทิ การจัดการน้ำ การประกอบอาชีพ การตลาด การออมและจัดสวัสดิการ รวมถึงทักษะการจัดการความสัมพันธ์กับเครือข่ายจากภายนอกชุมชน โดยเรียนรู้จากประสบการณ์จริง ทั้งจากความผิดพลาดและความสำเร็จ รวมถึงร่วมกันแก้ไขและการป้องกันปัญหา
คณะผู้วิจัยได้ถอดบทเรียนการพัฒนาชุมชนยั่งยืนตามศาสตร์พระราชา โดยจำแนกองค์ประกอบสำคัญในการพัฒนาชุมชนยั่งยืนตามศาสตร์พระราชา เป็น 3 เรื่องหลัก ได้แก่ ระบบคิด ระบบจัดการ และกิจกรรมปฏิบัติการ
• ระบบคิด: ก่อนอื่นชุมชนต้องรู้จักตนเองและภูมิสังคมที่ตั้งอยู่อย่างถ่องแท้ โดยมีฐานข้อมูลที่จัดเก็บอย่างเป็นระบบและเรียกใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ชุมชนยั่งยืนจะมีเป้าหมายร่วมในการพัฒนาบนฐานความเป็นจริง และมีค่านิยมร่วม (Shared core values) ในการอยู่ร่วมกัน
• ระบบจัดการ: คุณลักษณะของแกนนำชุมชนมีส่วนสำคัญอย่างมากในการนำพาชุมชนไปสู่ความเข้มแข็งและยั่งยืน โดยมีกลไกจัดการภายในชุมชน และกติกาการจัดการทรัพยากรร่วมที่เหมาะสมกับแต่ละบริบทของชุมชน รวมถึงช่องทางการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ
• กิจกรรมพัฒนา: กิจกรรมในระดับปฏิบัติต่าง ๆ เน้นการต่อยอดจากสิ่งที่มีอยู่เดิม รวมถึงภูมิปัญญาท้องถิ่น เน้นกระบวนการมีส่วนร่วม และคำนึงถึงประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ในชุมชน
ภาพประกอบ EP นี้ เป็นการถอดบทเรียนการบริหารจัดการน้ำชุมชนอย่างยั่งยืน ที่คณะวิจัยได้ดำเนินการร่วมกับทีมงาน Circular Economy ของ SCG และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) หรือ สสน.
ดร.ปรียานุช ธรรมปิยา สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
#ชุมชนยั่งยืน #ศาสตร์พระราชา #ทฤษฎีใหม่ #Circular Economy #SCG #สสน
EP.9 รูปแบบการพัฒนาชุมชนยั่งยืนตามศาสตร์พระราชา
EP นี้ นำเสนอรูปแบบการพัฒนาชุมชนยั่งยืนตามศาสตร์พระราชา ซึ่งเป็นผลงานวิจัยของโครงการ ที่สามารถนำไปใช้เป็นเครื่องมือในการขยายผลการพัฒนาชุมชนยั่งยืนตามศาสตร์พระราชาได้ต่อไป
จากการถอดบทเรียนประสบการณ์พัฒนาชุมชนต้นแบบการบริหารจัดการน้ำแบบพึ่งตนเองตามศาสตร์พระราชา จาก 4 ชุมชนกระจายในหลากหลายภูมิสังคม และสังเคราะห์ปัจจัยขับเคลื่อนชุมชนเพื่อให้สามารถพึ่งตนเองได้ และเกิดการพัฒนาชุมชนที่ยั่งยืน และนำปัจจัยหลักดังกล่าวมาจัดทำเป็นรูปแบบการพัฒนาชุมชนแบบพึ่งตนเองอย่างยั่งยืนตามศาสตร์ของพระราชา โดยจำแนกเป็นปัจจัยในการพัฒนาใน 5 ด้าน ได้แก่
• คนในชุมชนมีส่วนร่วมในการพัฒนา
• เป้าหมายการพัฒนาชุมชนมุ่งสร้างความสมดุลและภูมิคุ้มกันที่ดี
• แกนนำขับเคลื่อนและผู้นำมีความรู้คู่คุณธรรม
• มีฐานข้อมูลเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาชุมชน
• มีระบบการบริหารจัดการชุมชนบนฐานธรรมาภิบาลสู่ความยั่งยืน
ทั้งนี้ ในแต่ละด้าน มีองค์ประกอบ และตัวชี้วัดในลักษณะระดับการพัฒนา (เกณฑ์คุณภาพระดับ 1 – 5) เพื่อบรรลุความสมบูรณ์ (Maturity) อย่างเป็นขั้นตอน รายละเอียดตามภาพประกอบข้างล่าง
ดร.ปรียานุช ธรรมปิยา ผศ.ดร.ทัศนีย์ สติมานนท์ และ ดร.อัจฉรา โยมสินธุ์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
#ชุมชนยั่งยืน #ศาสตร์พระราชา #รูปแบบการพัฒนาชุมชน #MaturityMode
EP.10 การขยายผลการพัฒนาชุมชนยั่งยืนฯ
แผนงานวิจัยขยายผลการจัดการน้ำหมุนเวียนในชุมชนอย่างยั่งยืน ทำให้เกิดรูปแบบการพัฒนาอย่างยั่งยืนตามศาสตร์พระราชาทั้งสิ้น 4 โมเดล ซึ่งนอกเหนือจาก “รูปแบบการพัฒนาชุมชนยั่งยืนตามศาสตร์พระราชา” ที่ได้นำเสนอใน EP ที่แล้ว ยังมีอีก 3 ชุดตัวชี้วัด ที่สามารถใช้เป็นแผนที่นำทางการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน ตามกรอบแผนงานวิจัย ได้แก่
• "รูปแบบการจัดการทรัพยากรน้ำในชุมชนเพื่อการขยายผลอย่างยั่งยืน" โดย ผศ.ดร.ฆริกา คันธา
• “การต่อยอดเศรษฐกิจจากฐานการจัดการน้ำชุมชนเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม” โดย ผศ.ดร.สันติ ชัยศรีสวัสดิ์สุข
• “รูปแบบการจัดการกองทุนพัฒนาชุมชนตามศาสตร์ของพระราชา” โดย ดร.อัจฉรา โยมสินธุ์
ทั้งนี้ ภายใต้แผนงานวิจัย เราจะมีการฝึกอบรม Trian the Trainers ให้กับผู้นำการขับเคลื่อนชุมชนต้นแบบ เจ้าหน้าที่ขับเคลื่อนการพัฒนาในหน่วยงานต่าง ๆ อาทิ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ มูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ และ กรมพัฒนาชุมชน เป็นต้น เพื่อให้เกิดแกนนำในการขยายผลการพัฒนาชุมชนให้สามารถพึ่งตนเองได้อย่างยั่งยืนตามศาสตร์พระราชา และเผยแพร่ผลงานสู่สาธารณชน อย่างต่อเนื่อง
EP นี้จะเป็น EP สุดท้ายของ Series นี้ จึงขอแนะนำทีมงานวิจัยผ่านรูปภาพลงพื้นที่ใน 4 ชุมชนตามข้างล่าง และขอขอบคุณ FC พอเพียงเพื่อยั่งยืน ที่ติดตาม Series นี้มาจนจบ
ดร.ปรียานุช ธรรมปิยา สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
#ชุมชนยั่งยืน #ศาสตร์พระราชา #พอเพียงเพื่อยั่งยืน